ด้วยความรักและเคารพในพ่อจึงทำอยากอะไรเพื่อพ่อบ้าง คำว่าลูกหรือศิษย์,หลาน ความหมายที่ต้องปฎิบัติตามที่ทุกคนรู้ด้วยปัญญาอยู่แล้ว พระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พ่อได้นำมาอธิบายความหมายมีทั้งขยายทั้งย่อ ตามอุปนิสัยของเราทั้งหลายให้ได้รู้ซึ้งถึงคำว่า พระรัตนตรัย ทั้งคำสั่งและคำสอนที่พ่ออธิบาย พ่อเหนื่อย ทนต่อการเจ็บป่วยต่อร่างกายของพ่อ เพื่อให้ลูกทุกคนได้้เข้าใจและเร่งปฎิบัติตามพระธรรมนั้นๆที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เหมือนกันทุกๆพระองค์ มีพระอริยสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีแล้วได้ปฎิบัติตามพระธรรมนั้นและได้นำธรรม นั้นมาสอน ซึ่งเรามีพระเดชพระคุณหลวงพ่อเป็นพระผู้นำทาง....เราทำอะไร?...อย่างไร?...เพื่อพ่อบ้าง?...เพราะเราทั้งหลายเห็นแล้วว่า...พ่อทำเพื่อใคร?...ถ้าไม่ใช่เราเราทุกคน

การบันทึกนี้เป็นการจดจำที่มีต่อพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่หลวงพ่อนำมาสอน ที่เราเรามีความเคารพและรักเหมือนพ่อผู้ให้กำเนิด เพราะพ่อเป็นผู้ให้เราได้เกิดในบวรแห่งพระพุทธศาสนาเข้าถึงและรู้ซึ้งคำว่าพระรัตนตรัยและพระนิพพาน ฯลฯ.สุดที่จะกล่าวได้หมด

พ่อปรารถไว้เสมอว่า...ถ้อยคำใดใดที่เป็นคำสอน ให้ถือว่าเป็นคำสอนที่มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ขอนอบน้อมถวายแด่

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อุทัยธานี)

นะโม มหาวีโร ถาวโร

อนุพุทธโธ วิสุทธะสีเลนะสัมปันโน

ทะสะปะระมีโย ทะสะอุปุ ปาระมีโย

ทะสะปะระมัตถะ ปาระมีโย

ปุญโญ โลกัตถะจะริโย

ขิตะมาโย เมนาโถ อะหัง

 

คำแปล..........ขอนอบน้อมพระมหาวีระถาวโร ผู้เป็นพระอนุพุทธะ ผู้ถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล ผู้มีบารมีสิบ ผู้ม้อุปบารมีสิบ ผู้มีปรมัตถะบารมีสิบ เป็นผู้มีบุญ มีจริยาเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ผู้ชนะมาร ผู้เป็นที่พึ่งแก่เรา ข้าพเจ้าขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า

 

***คำสอนสั้นๆที่ประทับใจ ***

 

คำกล่าวเมื่อสมาทานพระกรรฐาน

"อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ"

ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอมอบกาย ถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

...อันนี้สำคัญมากเพราะเป็นการถวายสัจจะต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย ...

 

พรที่หลวงพ่อกล่าวให้ไว้

ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ ขอลูกรักของพ่อทุกคน จงทรงธรรมนั้นไว้ จนกว่าจะเข้านิพพานในชาตินี้

 

หลวงพ่อสั่งไว้...

จงจำไว้ว่า

"ขณะใดที่ใจของลูกยังรักษาอภิญาสมาบัติไว้ รักษาปฎิปทาสาธารณประโยชน์ ขณะนั้นลูกจงภูมิใจว่า พ่ออยู่กับลูกตลอดเวลา ถึงแม้ว่า ร่างกายกายาของพ่อจะสลายไป แต่ใจของพ่อยังอยู่กับใจของลูก ลูกจะไปไหน ก็ชื่อว่าพ่อไปด้วย ช่วยลุกทุกประการ"

ผมว่าพ่อสั่งไว้ให้ผู้ที่ถวายตนต่อพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย มีหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง เป็นที่สุด ให้รู้รักสามัคคีกันร่วมกันสร้างและบำเพ็ญตนเพื่อพระรัตนตรัยสืบสานต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ครบตามพุทธพยากรณ์ ดำรงไว้ซึ่ง...ชาติ...ศาสนา...พระมหากษัตริย

 

มีคำพูดหนึ่งที่พ่อให้ไว้เพื่อตัดอารมณ์ที่กังวล และนิวรณ์หรือสิ่งที่มากระทบใจ

"ช่างมัน...ช่างมัน...ช่างมัน"

ท่องไว้...ระลึกไว้..ให้ขึ้นเป็นคติประจำใจกันนะครับ

 

       หลวงพ่อสอน..ให้เราต้องตัดกังวลทุกอย่าง ก่อนเริ่มภาวนาต้องไม่สนใจกับอารมณ์ทั้งภายนอกและภายในของเราทั้งหมด เรื่องของชาวบ้านช่างมัน ใครจะเป็นอะไรช่างมัน เราเองจะตายก็ช่างมัน เราต้องการอย่างเดียวคือความสุขบริสุทธิ์ของจิต และความตั้งมั่นของจิต

 

*** ศีล ***

พ่อให้เราสำรวจตนเอง เพราะเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นในการปฎิบัติพระกรรมฐาน

๑. เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง

๒. เราจะไม่ยุยงให้ชาวบ้านทำลายศีล

๓. เราจะไม่ยินดีเมื่อคนอื่นทำลายศีลแล้ว

ถ้าเราละเมิดครบทั้งสามข้อหรือที่เรียกว่าครบองค์สาม เรียกว่าศีลเราขาด แต่ถ้าบกพร่องข้อใดข้อหนึ่งถือว่าผ้าขาวมีรอยด่าง มีรอยด่างมากๆก็ทะลุ ทะลุมากๆเดียวก็ขาด ถ้าเราจะหนีนรกกันจริงๆปฏิบัติให้ครบทุกข้อดีที่สุดครับ จิตก็แจ่มใสและเป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระรัตนตรัยและองค์หลวงพ่อด้วย

 

*** บารมี ***

หลวงพ่อกล่าวไว้ว่า บารมี หมายถึง กำลังใจ ถ้าเรามีกำลังใจครบถ้วนก็ได้ชื่อว่า"บารมีเต็ม" คำว่า"บารมีอ่อน" ไม่เป็นความจริง เพราะสร้างกันใหม่ได้ ถ้าเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้ายังบอกว่าอ่อนอีกก็แสดงว่าขี้เกียจมากเกินไป ไม่รู้จักควบคุมกำลังใจ

 

หลวงพ่ออธิบายไว้ว่า....

การรักษาศีล เพียงแค่นี้ยังมีผลแค่สะเก็ดความดีเท่านั้น ถ้าขยับขึ้นอีกหน่อย คือ

1. ตัดปลิโพธทั้งหมด (ความกังวล)

2. ทรงศีลบริสุทธิ์

3. ระงับนิวรณ์ห้าประการได้เด็ดขาดในขณะที่ทรงสมาธิ

4. ทรงพรหมวิหารสี่ได้

ถ้าทรงได้อย่างนี้องค์สมเด็จพระศาสดา ทรงตรัสว่าท่านทรงความดีแค่เปลือกของพระศาสนา

หลวงพ่อให้เรานำมาวัดใจกันให้ดีว่า เวลานี้เราทรงความดีเข้าถึงเปลือกของพระศาสนาแล้วหรือยัง ต้องทรงตลอดเวลา พูดง่ายๆว่าต้องทรงอยู่ตลอดชีวิต ขอยกเว้นข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เลย ถ้าเราจะเอาความดีกัน

 

*** ส่วนสุดสองอย่าง ***

1.อัตตกิลมถานุโยค

การปฏิบัติตนด้วยความลำบาก มีการเคร่งเครียด มีการทรมานกาย ชอบนั่งกันนานๆทรมานเป็นชั่วโมงๆ เป็นสิ่งที่ผิด การทรมานกายเช่นนี้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมพระศาสดาถือว่าผิด ไม่ใช่ทางบรรลุผลมันเครียดเกิดไป

2.กามสุขัลลิกานุโยค

เวลาที่เรานั่งภาวนาไปก็นึกอยากจะถึงนั่น อยากจะถึงนี่ อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ ไอ้ตัวอยากนี่มันเป็นตัณหา คือกิเลส

หลวงพ่ออธิบายไว้ว่า...อาการสองอย่างนี้ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสนาทรงให้ละเสียอย่าเข้าไปแตะต้อง

 

*** มัชฌิมาปฎิปทา ***

หลวงพ่อได้อธิบายไว้ว่า...

คำนี้เป็นถ้อยคำที่พระพุทธสาวกจำกันจนขึ้นใจ เป็นพระพุทธพจน์ที่ยืนยันถึงผลของการปฎิบัติ ซึ่งให้ผู้ปฎิบัติ ทำพอสบายๆ ไม่เกียจคร้านเกินไป ไม่ขยันเกินไป นั่งนานเมื่อยก็นอน นอนไม่สบายก็ยืน ยืนไม่ถนัดก็เดิน ตามแต่จะเห็นว่าสบาย กำหนดจิตภาวนา หรือพิจารณาไปด้วย.

 

หลวงพ่อสอนไว้ว่า...

การเจริญพระกรรมฐานอันดับต้นก่อนที่จะภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาก่อน เอาง่ายๆให้คิดถึงความตายก่อน ให้เรานึกอยู่เสมอว่าเราต้องตายแน่ ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ทั้งนี้เพราะการ เกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตายเหมือนกัน

 

***อัตตนา โจทยัตตานัง***

...จงกล่าวโทษโจทย์ความผิดของตัวเองไว้เสมอ...

***นัตถิ โลเก อนินทิโต***

...คนที่ไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก...

คติธรรมนี้หลวงพ่อให้นำมาพิจารณาตนเองไว้เสมอ

 

หลวงพ่อสอนว่า....ขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันมีเจ้าของ เจ้าของขันธ์ ๕ คือใคร ก็ได้แก่

กิเลส.....ความชั่วของจิต

ตัณหา.....ความทะยานอยากของจิต

อุปาทาน.....ความยึดมั่นถือมั่นของจิต

อกุศลกรรม.....อารมณ์ชั่ว ก็ได้แก่ที่เรามีความคิดมีความรู้สึกว่าร่างกายมันเป็นของเรานั่นเอง เป็นความรู้สึกที่ไม่ตรงกับความจริง

(ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็ยังต้องเกิดมีขันธ์๕ แบบนี้ต่อไป ละกันบ้างกันนะครับ เริ่มซักหน่อยก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย)

 

หลวงพ่อสอนไว้ว่า...การบวชถือว่า

นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ

เอตัง กาสาวัง คเหตวา

ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

เราบวชใจ ก็ถือเป็นคติไว้ประจำใจ

 

ชาติปิ ทุกขา.....ความเกิดเป็นทุกข์

ชราปิ ทุกขา.....ความแก่เป็นทุกข์

มรณัมปิ ทุกขัง.....ความตายเป็นทุกข์

โสกปริเทวทุกข โทมนัสสุปายาส.....ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์

หลวงพ่อสอนให้รู้ว่า...มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะใจเรายึด แต่ว่าถ้าใจเราไม่ยึด ยอมรับนับถือตามความจริง ความรู้สึกที่มันเป็นทุกข์ก็เพราะว่ายึดถือมัน เราก็วางมันเสียเลยขันธ์๕ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะตายก็ช่างมัน

(ชีวิตที่มีอยู่ก็ปฏิบัติธรรมกันให้ถึงที่สุด ใช้ชีวิตตามบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำต้องรับผิดชอบนะครับ)

 

หลวงพ่อสอนนักปฏิบัติไว้ว่า

การปฏิบัตินี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ธรรมะของเรา ไม่ใช่ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า"

"ตุลิตะ ตุลิตัง สีฆะ สีฆัง"

"ธรรมะของเราต้องปฏิบัติเร็วๆ ไวๆ"

ไม่ใช่ว่าจะมารับฟังกันแล้วก็ยังมีความโลภ ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง ทำให้อารมณ์ชั่วยังสิงอยู่ในใจ นั่นไม่ใช่เป็นวิสัยของศากยบุตรพุทธชิโนรส

 

 

หลวงพ่อสอนไว้ว่า...

ไม่มีความลำบากสำหรับคนที่มีอารมณ์ใจเข้มแข็งและเป็นคนมีความฉลาด ฉลาดในที่นี้ต้องหลีกจากกิเลส จงอย่าเอากิเลสมาฉลาด จำพุทธสุภาษิต อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง กล่าวโทษโจษความผิดอย่างโยกความผิด อย่าโยกโทษให้ไปอยู่กับใคร ถ้าความเร่าร้อนในใจเกิดขึ้นกับเรา เราต้องแสวงหาความผิดของตนเอง กล่าวโทษโจษตนเองไว้เสมอ ถ้าเราไม่เลวไม่มีความเร่าร้อน

 

หลวงพ่อสอนให้จำไว้ว่า...

ความดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่จิตของเราทราบไว้แต่เพียรเท่านี้ ความพลั้งพลาดมาแล้ว จงถือว่าเป็นครู ความพลั้งพลาดในที่นี้เพราะเราใช้เวลามาก แต่ทว่าผลจากการปฏิบัติมีผลน้อยที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดความเข้มแข็งของจิต ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านเขาถือว่าไม่เอาจริงเอาจัง สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าศึกษา มีความเมาในตน มีความเมาในจิต เมาในราคะ เมาในโลภะ เมาในความโลภ เมาในความโกรธ เมาในความหลง ก็เพราะว่าเมาจึงไม่สามารถจะทำให้จิตบางเบาจากกิเลสได้ เหตุที่จะมาอย่างเดียวก็คือขาดความเอาจริงเอาจัง จรณะ๑๕ ฟังแล้วไม่ปฏิบัติ บารมี๑๐ ฟังแล้วไม่สนใจ อิธิบาท๔ ฟังแล้วก็วางไว้ พรหมวิหาร๔ ฟังแล้วก็ทิ้งไป ที่เราไม่สามารถจะก้าวไปสู่ระดับของความดีได้เพราะขาดคุณธรรมประเภทนี้ ฉนั้นถ้าหากขาดคุณธรรมประเภทนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าพวกเราเป็นอาภัพพบุคคล เป็นบุคคลที่เอาดีไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สายเกินไป คำว่าอาภัพพบุคคล นั้นหมายถึงบุคคลที่ไม่เอาจริงเอาจัง เราก็กลับเสียใหม่ได้ กลับเป็นคนจริงคนจังเสีย การเจริญพระกรรมฐานให้ถึงขั้นอรหัตผลไม่ใช่ของยาก เพราะไม่มีการลงทุน เราลงแต่กำลังใจอย่างเดียว

 

หลวงพ่อได้เตือนไว้ว่า...

...ขอให้ทุกท่านจงอย่าหลงตัวว่าเป็นผู้ทรงญาณเป็นพระอริยเจ้า ความเป็นพระอริยเจ้าไม่ต้องประกาศ เห็นหน้าปั๊บรู้จักได้ยินชื่อ ก็รู้ว่าเป็นพระอริยเจ้า หากว่าท่านยังไม่เป็น และหลงว่าเป็นนี่มันจะซวย ไม่ต้องประกาศเขา ความดีอยู่ที่เรา เราไม่ได้บวชเพื่อบูชาของชาวบ้าน เราบวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ...

(เราผู้ซึ่งปฏิบัติธรรมถือว่าบวชใจ ก็อย่าหลงตัวเองจำคำของพ่อไว้นะครับ)

 

กลับบน

กลับหน้าหลัก